“ถ้าผมจะให้รางวัลกับวิศวกรผมจะให้เพราะชีวิตจิตใจเขาเป็นวิศวกร”
จากผลงานในการบริหารงานก่อสร้างอย่างมืออาชีพในหลายต่อหลายโครงการ ทั้งอาคารสำนักงาน อาคารชุดพักอาศัย โรงแรมและรีสอร์ต สถาบันการศึกษา อาคารศูนย์การค้า และสวนสนุก ตลอดจนโรงงานอุตสาหกรรม การันตีได้ถึงความสามารถของ TACE ภายใต้การขับเคลื่อนของ รองศาสตราจารย์ ดร.ต่อตระกูล ยมนาค ประธานกรรมการ บริษัท วิศวกรที่ปรึกษาต่อตระกูล ยมนาค และคณะ จำกัด ได้เป็นอย่างดี ด้วยบุคลิกที่ชัดเจน ตรงไปตรงมา และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทำให้ รศ. ดร.ต่อตระกูล ถือเป็นต้นแบบของวิศวกรไทยที่ได้รับการยอมรับในเรื่องของความชื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส และตรวจสอบได้ พิสูจน์ได้จากการมุ่งมั่นที่จะทำงานอย่างมีคุณธรรมและยึดในจรรยาบรรณวิชาชีพวิศวกรอย่างมั่นคงตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา
ดร. ต่อตระกูล ให้มุมมองเกี่ยวกับวิชาชีพวิศวกรว่า สถานะของอาชีพวิศวกรในปัจจุบันเปลี่ยนไปจากเมื่อ 30-40 ปีที่ผ่านมา อาชีพวิศวกรไม่ใช่อาชีพที่จะทำเงินหรือหางานง่ายที่สุดเหมือนสมัยก่อน แม้ว่าอาจมีคนที่สำเร็จในวิชาชีพมีเงินทองร่ำรวยแต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีฐานะดีกว่าอาชีพอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ทำธุรกิจของตนเองและผู้ที่ทำอุตสาหกรรม ล่าสุดพบว่าเมื่อแนวทางของประเทศจะพัฒนาในเรื่องการศึกษาโดยเฉพาะบุคลากรครูซึ่งมีโครงการรับครูพันธุ์ใหม่ ซึ่งน่าจะการันตีเรื่องเงินเดือนสูงและมีอนาคตที่ดีด้วย ทำให้มีคนสมัครเรียนครูมากกว่าวิศวกร ซึ่งอาจารย์มองว่าเป็นเรื่องดีที่จะมีคนมาช่วยกันสร้างคนสร้างชาติ
“คนที่ต้องการเป็นวิศวกรจะต้องรู้ความจริงตรงนี้ และจะต้องหาตัวเองให้พบว่าตัวเองเป็นช่างมีความภูมิใจในการที่จะสร้างสรรค์สิ่งที่จับต้องได้และมีชีวิตเช่น อาคารสิ่งก่อสร้างซึ่งเป็นสิ่งที่แตกต่างจากบางอาชีพที่ผลงานไม่สามารถจับต้องได้ และที่สำคัญเป็นอันดับแรก คือ ผมอยากได้คนที่เป็นวิศวกรเพราะใจรัก”
สำหรับอาชีพวิศวกรที่ปรึกษาจะทำหน้าที่ด้านการบริหารงานก่อสร้าง การออกแบบ การเตรียมการควบคุมงาน ซึ่งโดยฐานะแล้วแตกต่างกับผู้รับเหมาคนละอาชีพเลย แต่หากพูดตามจริงแล้วแม้จะรู้ว่าจะก่อสร้างอย่างไร แต่เราสร้างไม่ได้เหมือนผู้รับเหมา แต่จริงๆ แล้วเราต้องการวิศวกรโยธาซึ่งเชี่ยวชาญงานก่อสร้างและตั้งบริษัทผู้รับเหมาได้และรู้เรื่องการบริหารจัดการ แต่ขณะนี้แทบไม่มีมหาวิทยาลัยใดที่บอกว่าเป็นวิศวกรเพื่อบริหารงานรับเหมามีเพียงการสอนงานก่อสร้างแค่ในระดับอาชีวะศึกษาเท่านั้น ซึ่งแตกต่างกับประเทศอื่นที่มีการเรียนการสอนในอาชีพผู้รับเหมาอย่างจริงจัง
ในวิชาชีพวิศวกรหรือนักก่อสร้าง คนส่วนใหญ่ถือว่าเป็นทางเลือกสุดท้าย เป็นอาชีพที่เหมือนวรรณะที่ต่ำต้อยในวิชาชีพวิศวกร รวมถึงยังมีค่านิยมในการเรียนที่คิดว่าไม่โก้ ไม่รวย ทำให้คนคิดว่าผู้รับเหมานั้นไม่ต้องมีความรู้อะไร แต่จริงๆ ต้องใช้วิชาความรู้และเป็นวิชาชีพอย่างหนึ่งและเป็นอาชีพที่มีเกียรติ
“ผมจึงบอกว่าถ้าคนที่จะเรียนวิศวกรรมต้องเข้าใจสถานะ ถ้าคนชอบก็จะมีความสุข แม้เราไม่ค่อยมีเงินมากแต่เราก็มีความสุข และสุดท้ายที่เราบอกว่าอาชีพผู้รับเหมาเป็นอาชีพที่ต่ำต้อย แต่ปรากฏว่าอาชีพนี้ก็จะเป็นผู้ที่มีรายได้มากที่สุด”
ด้านการเตรียมความพร้อมของวิศวกรไทยในการออกไปแข่งขันกับต่างชาติในไม่อีกกี่ปีข้างหน้า ในเรื่องนี้ ดร.ต่อตระกูล มีความเห็นว่า การเปิดเสรีด้านการลงทุนภายใต้กรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) จะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมืออย่างเสรี ส่งผลให้การแข่งขันในตลาดแรงงานเป็นไปอย่างเข้มขั้น ซึ่งทุกวันนี้ในส่วนของธุรกิจก่อสร้างนั้นประเทศสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ได้ออกแข่งขันในตลาดต่างประเทศมากกว่าประเทศไทยนานแล้วในแง่ของการแข่งขันนั้นแม้ไทยจะมีบริษัทแนวหน้าที่เทียบเท่าบริษัทต่างชาติได้แล้ว แต่ก็ยังเป็นบริษัทที่มาอยู่ในเมืองไทย คนไทยยังขาดประสบการณ์ที่จะออกไปแข่งขันในตลาดต่างประเทศ เนื่องจากภาษาอังกฤษของวิศวกรไม่ค่อยดีจึงเหมือนคนตาบอด ซึ่งจริงๆคนไทยสามารถที่จะสู้ได้แต่ต้องฝึกฝนให้มากกว่านี้ ส่วนในแง่การออกแบบนั้นบริษัทต่างชาติได้เข้ามาแข่งขันกับคนไทยแล้วแต่ยังไม่เป็นทางการ สิ่งเดียวที่ตอนนี้เราสู้ได้อย่างเดียวคือราคาถูก
วิศวกรนั้นจึงจำเป็นต้องมีการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา ต้องเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่ออาชีพที่ดี ยิ่งเป็นวิศวกรยิ่งต้องตั้งโจทย์เอง หาคำตอบ บางทีต้องค้นหาปัญหาได้เองด้วยจึงต้องยิ่งฝึกฝนตนเองไม่เช่นนั้นต้องเป็นลูกน้องต่างชาติที่เขารู้มากกว่า แม้ว่าจะสมองดีแต่ก็เหมือนคอมพิวเตอร์ที่ Speed ดีแต่ไม่มีข้อมูล รวมถึงต้องเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนด้วยถึงจะแข่งขันได้”
ในส่วนของ TACE ผมคิดว่าการแข่งขันกับบริษัทต่างชาติจะไม่มีเพราะเขาจะมาเลือกงานที่มีมาร์จิ้นสูง แข่งขันน้อย เห็นความแตกต่างได้ชัดจากค่าออกแบบของคนไทยคิดจากราคาก่อสร้างที่ตั้งไว้อย่างมาก 4%ในงานส่วนของงานราชการจะคิดจากราคาก่อสร้าง 1.75% ส่วนต่างประเทศจะคิดที8-10% แต่คนมองเป็นอินเตอร์ก็ยินดีจ่าย แต่การบริหารงานก่อสร้างต้องใช้คนเยอะมาร์จิ้นน้อย แข่งขันสูง”
ตลอดระยะเวลา 25 ปี ทีมวิศวกรของTACE ได้สร้างผลงานด้านการบริหารงานก่อสร้างที่หลากหลายโครงการ โดยโครงการขนาดใหญ่ที่สร้างชื่อเสียงให้กับ TACE อาทิ อาคาร Tower Park คอนโดมิเนียมที่ซอยนานาใต้, การออกแบบและควบคุมงานสร้างคอนโดมิเนียม สูง 40 ชั้นที่ชะอำ จ.เพชรบุรี ของกลุ่มกฤษดานคร, การพัฒนาโครงการศูนย์การค้า The Gateway ใกล้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส เอกมัย, โครงการก่อสร้างอาคารมูลนิธิไตภูมิราชนครินทร์ และล่าสุดโครงการศิริปันนา วิลล่ารีสอร์ทแอนด์ สปา เชียงใหม่
ดร.ต่อตระกูล มองว่า ปัจจุบันงานก่อสร้างไม่ได้ง่ายเหมือนการสร้างบ้านในสมัยโบราณเพียงอย่างเดียว แต่สมัยนี้ต้องมีงานด้านอื่นมาเกี่ยวข้องทั้งงานเทคนิค เทคโนโลยีไฟฟ้า งานประปา และระบบอื่นๆ ที่ต้องเข้ามารวมอยู่ด้วยกัน หน้าที่ของเราคือ ต้องจับมาประสานให้เข้ากัน เบื้องหลังของความสำเร็จไม่มีใครรู้ว่ามันยากลำบาก แต่บางครั้งอาจไม่มีใครล่วงรู้เลยว่าใครอยู่เบื้องหลังแต่เรารู้และเราก็ภูมิใจ
“สิ่งที่ทำให้ผมมีความสุขทุกครั้งคือ การเห็นโรงแรมโครงการที่เป็นสถานศึกษาและอาคารสถานที่ต่างๆ เป็นอาคารที่มีชีวิต เห็นการเจริญเติบโต และมีคนมาใช้งานแล้วเขามีความสุขกับสิ่งที่เรามีส่วนร่วมสร้างขึ้น เราก็มีความสุขร่วมด้วย แม้ว่าเราจะไม่ใช่เจ้าของแต่เราก็ภูมิใจ”
อีกหนึ่งผลงานที่สร้างความภาคภูมิใจให้ ดร.ต่อตระกูล คือการเป็นบริษัทที่ปรึกษาบริหารโครงการก่อสร้างศูนย์กีฬาเอเซียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต โครงการระดับชาติ ซึ่งถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงที่พิสูจน์ให้เห็นถึงศักยภาพของ TACE บริษัทวิศวกรที่ปรึกษาสัญชาติไทย
“ความภูมิใจในการทำโครงการไม่ได้อยู่ที่ว่าโครงการมีขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่แต่เราดูว่าเราได้ทุ่มเทเต็มที่และได้งานออกมาเป็นที่น่าพอใจหรือไม่ต่างหาก เช่น การบริหารงานก่อสร้างศูนย์กีฬาเอเขียนเกมส์ครั้งที่ 13 ที่เป็นงานระดับประเทศ ที่ต้องมีการประมูลที่ตรงไปตรงมาเพื่อให้งานออกมาสวย เสร็จทันตามกำหนดเวลาและอยู่ในงบประมาณด้วย ซึ่งถือเป็นการพิสูจน์ความเป็นมืออาชีพของวิศวกรไทย”
ดร.ต่อตระกูล ย้ำเสมอว่า คนที่เป็นวิศวกรต้องภูมิใจในความเป็นวิศวกรที่ใช้จรรยาบรรณของวิศวกรซึ่งเป็นจรรยาบรรณสากลต้องทำหน้าที่เพื่อส่วนรวม และต้องยอมรับว่า คนที่ยึดจรรยาบรรณอาจไม่ประสบผลสำเร็จทางด้านการเงิน เพราะในจรรยาบรรณไม่ได้บอกว่าวิศวกรต้องสร้างความร่ำรวยให้ตนเอง อาชีพวิศวกรที่ปรึกษาจึงเหมือนกับอาชีพผู้พิพากษาที่ทำงานโดยไม่ได้หวังความร่ำรวย และถึงแม้จะไม่ใช่ผู้พิพากษาโดยตรง แต่วิศวกรที่ปรึกษาก็ถือเป็นผู้พิพากษาในอาชีพที่จะต้องให้ความเห็นในแง่วิชาการว่าสิ่งใดควรทำ หรือไม่ควรทำ
“ถ้าผมจะให้รางวัลกับวิศวกร ผมจะให้เพราะชีวิตจิตใจเขาเป็นวิศวกร ในแง่วัตถุเขาไม่มีอะไรเลยแต่เขาสามารถที่จะสร้างความเจริญได้ ซึ่งอาจจะหายากกว่าที่คนนี้มีเงินเดือน ตำแหน่งสูง หรือเป็นชีอีโอบริษัทที่ประสบความสำเร็จเสียอีก”และนี่คือ วิศวกรที่แท้จริงในนิยามของ รองศาสตราจารย์ ดร.ต่อตระกูล ยมนาค
Source : https://www.tace.co.th/new/wp-content/uploads/2019/11/บทความ-100-Engineers.pdf