โดย รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค
ฝันร้ายที่สุด ของวิศวกรโครงสร้าง ( Structural Engineer) อย่างผม คือฝันว่าอาคารที่เราเป็นวิศวกรออกแบบโครงสร้างไว้ สูง30ชั้น บ้าง 40 ชั้นบ้าง ฝันเห็นตึกเราพังทลายลงมา แต่ตึกเหล่านั้นก็ยังแข็งแรงยืนผ่านการทดสอบจากพลังธรรมชาติที่ร้ายแรงที่สุด ที่ประเทศไทยได้พบ ในรอบ ร้อยปี เมื่อ วันที่ 28 มีนาคม 2568 ได้หมด ถึงแม้อาคารเหล่านี้จะได้ออกแบบเมื่อ 50 ปีที่แล้วมา ในยุคก่อนที่จะมีไมโครคอมพิวเตอร์ เกิดขึ้นให้ใช้
วิศวกรโครงสร้างมีอุปกรณ์การคำนวณโครงสร้าง เพียงแค่กระดาษและปากกา รายการคำนวณต้องเขียนด้วยลายมือเป็นร้อยๆหน้า เพื่อส่งให้ กทม. ตรวจสอบ ก่อนจะออกใบอนุญาตให้ก่อสร้างได้วิศวกรโครงสร้างในยุคก่อนผม จะมีแค่ ไม้บันทัดคำนวณ ( Slide Rule) ใช้คูณหารเลข และต่อมาในยุคผมจึงได้มีเครื่องคิดเลขเล็กๆ เป็นเครื่องมือช่วยคำนวณตัวเลขกัน
กรณีอาคาร สตง.ที่ถล่มลงมาเหลือเป็นกองเป็นภูเขาคอนกรีต พื้นคอนกรีตหนาๆ 29 ชั้น หล่นลงมาทับคนงานและวิศวกร70 กว่าคน ที่สูญหายไป น่าจะถูกอัดซ้อนๆกัน อยู่ใต้กองคอนกรีตนี้ เป็นภาพที่น่าเศร้าใจที่สุดในชีวิตการทำงานเป็นวิศวกรของผม ไม่นึกว่าจะเห็นภาพแบบนี้เกิดขึ้นในประเทศเราได้
ผมพูดและเขียน เรื่องความภูมิใจในคุณภาพวิศวกรของประเทศไทย เสมอว่า เรามีองค์กร และสถาบันทางวิศวกรรมต่างๆที่เข้มแข็ง เช่น วสท ( วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ) ที่ออกมาตรฐาน เพื่อให้สมาชิกใช้ ในการออกแบบ งานวิศวกรรมสาขาต่างๆ หลายมาตรฐาน วสท ได้ออกมา และวิศวกรได้นำไปใช้ล่วงหน้าก่อนที่จะมีออกเป็นกฎหมาย ใช้บังคับเสียอีก !
ในบรรดาตำแหน่งต่างๆ ที่ผมได้รับเลือกไปเป็น ที่ผมภาคภูมิใจที่สุด ก็คือตำแหน่ง นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ( วสท ) ซึ่งมีวาระเพียง 2 ปี แล้วก็จะมีการเลือกนายก วสท คนใหม่ สืบต่อกันไป ในสมัยที่ผมดำรงตำแหน่งนั้น ผมได้สนับสนุนให้วิศวกรต้องเข้มงวดในจรรยาบรรณ วิชาชีพวิศวกร เบื้องต้นสุด ก็คือ อย่ายอมลงนามในฐานะวิศวกร โดยที่เราไม่ได้ปฎิบัติงานนั้นจริง
ผมได้ออกจดหมาย ของ วสท เป็นทางการให้วิศวกร แสดงต่อ ผู้ว่าจ้าง, ผจก. บริษัท ในกรณีที่ให้เซ็นชื่อเป็นวิศวกรควบคุมงาน เป็น สิบๆโครงการ โดยไม่ได้ไปทำงานจริง ทุกครั้งที่ผมเห็นข่าว อาคารพัง สะพานพัง ผมตั้งคำถามในใจเสมอว่า ใครคือวิศวกรผู้ควบคุมงานจริงในกรณีล่าสุด การสร้างทางด่วน พระราม 2 ที่พังลงมาขณะเทคานคอนกรีตขนาดใหม่หนักเกือบ 1,000 ตัน มีชื่อวิศวกรที่คุมงานเสียชีวิตด้วย แต่เมื่อตรวจในรายชื่อวิศวกรของสภาวิศวกร ก็ปรากฏว่าไม่ใช่วิศวกรที่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรม ?
ขอฝากข้อความถึง ท่านผู้ร่วมวิชาชีพวิศวกรโครงสร้าง ทุกท่านว่า ขณะนี้ สังคมและประชาชน เริ่มมาเห็นความสำคัญของ วิศวกรโครงสร้าง มีการเรียกหา วิศวกรที่เชื่อถือได้ มาช่วยตรวจอาคาร ที่พักอาศัย โรงเรียน ให้ เราต้องออกไปช่วยตรวจความแข็งแรง อย่างแรกที่สุดกับอาคารที่เราได้ออกแบบไป
ขั้นต่อไป หากยังมีกำลังอยู่ก็ขอให้เปิดเผยตัว ว่า “ ข้าพเจ้า เป็นวิศวกรโครงสร้างญาติ มิตร มีอะไรให้ผมได้ช่วยได้บ้าง ในการช่วยความกังวลเรื่องความปลอดภัย ของอาคาร บ้านเรือน ของท่าน ” แสดงตัวออกมาเถิดครับ ให้สังคมได้รู้จักว่า วิศวกรโครงสร้าง นั้นอยู่เบื้องหลังทุกอาคารที่แข็งแรงเสมอ และจะไม่ยอมตามใจผู้ออกแบบ หรือ แม้แต่เจ้าของอาคาร ถ้าระบบโครงสร้างนั่นจะอันตราย เสี่ยงต่อการถล่มทลาย แบบที่เกิดขึ้นนี้อีก เพราะ ทุกครั้งที่อาคารมีปัญหา แบบนี้ สังคมจะถามว่า ใครเป็นวิศวกร ? สังคมจะไม่ถามถึงสถาปนิก ซึ่งจริงๆมักจะเป็นผู้วางผังโครงสร้างอาคารเองมาก่อนแล้ว จึงส่งให้วิศวกรให้ไปออกแบบให้ได้
ผมเป็น 1 ใน 4 ของคณะผู้สังเกตการณ์ อิสระ ตาม พรบ. จัดซื้ดจัดจ้าง 2560 ซึ่งกำหนดให้มี คนกลางเข้าร่วมรับฟังการประชุม ขั้นตรวจรับงานก่อสร้าง อาคาร สตง. มาตลอด 3 ปี รู้สึกเสียใจอย่างที่สุดที่ไม่สามารถ ใช้ความรู้ประสบการณ์ ป้องกันมิให้เกิดเหตุวิบัติร้ายแรงลักษณะนี้ได้ เพราะ คณะของเราเข้ามาหลังจากที่ มีแบบ มีผู้รับเหมา มีผู้ควบคุมงาน ครบหมดแล้ว เราดูได้เพียงว่า คณะกรรมการ ของ สตง .ได้เข้มงวดเรื่องการอนุมัติ แก้ไข เปลี่ยนแปลง แบบ และสัญญา ซึ่งมีการบันทึก การประชุมไว้ในระบบ Zoom แล้วทุกๆการประชุม เป็นหลักฐานที่สามารถเรียกดูได้
* ทุกเช้าวันจันทร์พบกับเรื่องราวที่น่าสนใจในวงการก่อสร้างในชุด “เปิดสมองมก่อสร้าง”
วันจันทร์นี้ขอเล่าเรื่องความเศร้าใจในฐานะของวิศวกรโครงสร้างอย่างผมที่ต้องมาเห็นเหตุการณ์การพังถล่มของอาคาร สตง. ที่ไม่ควรเกิดขึ้น

ภาพประวัติศาสต์จากคลิป ที่จับภาพไว้ได้วินาทีแรก จะเห็นจุดที่โครงสร้างของอาคารเริ่มวิบัติ ทั้งจุดด้านล่างสุด และ จุดสูงสุดของอาคาร

ภาพทางการของโครงการก่อสร้างอาคาร สำนักงาน สตง. แห่งใหม่ บนที่ดินของการรถไฟ ย่านตลาดจตุจักร

ข่าวแรก ที่ผมได้รับ คือข่าวจากไลน์กลุ่มเพื่อนเตรียมอุดม เมื่อเวลา 15:06 น. ว่ามีอาคารถล่มลงมาทีืบริเวณถนนกำแพงเพชร 2 แถบจตุจักร ตอนนั้นยังไม่มีใครทราบว่า นี่คืออาคารของ สตง.ที่โครงสร้างคอนกรีตเสร็จมาตั้งแต่ กลางปี 2567

คอนโดมิเนียมสูงๆ ในยุคที่มีการเริ่มสร้างคอนโดมิเนียมสูงๆขาย ในยุคที่เศรษฐกิจไทยพุ่งสูงมากนั้น เกือบทุกโครงการจะมีชื่อ สถาปนิก และ วิศวกรโครงสร้าง คู่กับภาพอาคาร ที่เสนอขายเสมอ
อาคาร Tower Park ที่ซอยนานา จะพิเศษที่จะมีรูปสถาแนิกและวิศวกรโครงสร้าง ในรูปคือ อาจารย์อัศวิน พิชญโยธิน ส่วนรูปผมอยู่ทางซ้ายมือ