โดย รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค
งานก่อสร้างอาคารสยามเซ็นเตอร์ เป็นงานชิ้นแรก ในหน้าที่วิศวกรควบคุมงาน ในชีวิตของผม
วันแรกที่จบ ก็เห็นกระดาษติดประกาศรับวิศวกรไปควบคุมงาน เป็นงานที่ตั้งใจอยากจะทำมาก ผมรีบไปพบ อาจารย์ ดร.รชฎ กาญจนะวณิชย์ ที่สำนักงานแล้ว เริ่มให้งานวันรุ่งขึ้นเลย ไม่เกี่ยงเงินเดือน 2,500 บาทเลยสักนิด ในยุคปี 2513 แค่นี้ก็พออยู่ได้แล้ว
ผมเรียนวิศวกรรมโยธา สาขาโครงสร้าง เวลาคำนวณออกแบบเสร็จ แล้วต้องเขียนแบบคาน แบบ เสา ว่ามีเหล็กใส่ขนาดเท่าไหร่ ใส่ตรงจุดไหน โดยไม่เคยเห็นของจริงๆมาก่อนเลย เลยอยากรู้ อยากเห็นว่าเวลาก่อสร้างจริงๆ เขาทำกันยังไง อาจารย์ รชฏ เป็นผู้มีผลงานออกแบบตึกต่างๆในกรุงเทพฯมากที่สุด เพราะอาจารย์ไปจบปริญญาเอก ทางวิศวกรรมโครงสร้างมาจากอังกฤษ มาเป็นคนแรกๆ ของประเทศ แล้วก็กลับมาสอนที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ตอนผมเรียนตอนปี 4 ที่จะมีวิชาออกแบบโครงสร้างอาคาร ที่อาจารย์จะสอนอาจารย์ก็ลาออกไปพอดี
ตอนผมทำงาน นอกจากจะอยู่หน้างาน แล้วผมยังได้เข้าสำนักงาน พูดคุยกับอาจารย์อย่างกันเองด้วย อาจารย์บอกว่าอยากเก็บภาพผลงานอาคารที่ออกแบบไว้ ผมก็เสนอตัวทันทีว่าผมเคยเป็นประธานชมรมถ่ายรูป ตอนเรียนที่สาธิต ปทุมวัน เลยได้งานออกไปตะเวนถ่ายรูป อาคารสำคัญๆต่างๆทั่ว กรุงเทพฯ ได้เห็นอาคารโครงสร้างแปลกๆ นอกตำรา ก็เอากลับมาถามอาจารย์ว่า ออกแบบยังไง อาจารย์ก็บอกว่า ก็ต้องพยายามทำให้มันง่าย Simplify ที่สุดก่อน แฟ้มรายการคำนวณ โครงสร้างยากๆเช่นหลังคาคอนกรีตพับ ยาวเป็น20-30 เมตรที่อาคารสวนอัมพร มีรายการคำนวณหน้าเดียว เท่านั้น นิสิตรุ่นก่อนผม ที่ร้องเรียนกับคณะฯ ว่าอาจารย์รชฏ สอนออกแบบน้อย สอนแบบง่ายไป ไม่รู้ว่าว่า เวลาทำงานจริง ท่านอาจารย์ก็ทำแบบที่สอน ไม่ได้เก็บอะไรซ่อนไว้
ชื่อย่อ บริษัทของอาจารย์ ใช้คำว่า RKV มาจากชื่อ Rachot KanjanaVanit ปมก็อาสาออกแบบ ทำเป็น สติกเกอร์ บนพื้นสีเงินให้ ออกมาสวยมากในยุคนั้น ที่เล่ามา เพื่อจะบอกเล่าว่า ชีวิตการทำงานในปีแรก หลังจากสำเร็จการศึกษามานั้น สำคัญมาก ในการได้เรียนรู้ รับประสบการณ์ชีวิตที่สำคัญ ที่สำคัญนอกจากการเรียนรู้วิชาต่างๆในห้องเรียน การทำงานในบริษัทเล็กๆ ที่จะได้ใกล้ชิดกับหัวหน้าถ่ายทอดวิธีการทำงาน และการใช้ชีวิต นั้นมีคุณค่ามากกว่าเงินเดือนที่จะได้มากกว่าในการทำงานบริษัทขนาดใหญ่ มากนัก
และการทำงานนั้น อย่าเกี่ยงงาน ว่าไม่ใช่เกี่ยวกับความรู้ที่ได้เล่าเรียนมา ผมทำทุกอย่างที่ทำได้ และนายมอบให้ทำ ตอนหลังๆผมได้นั่งทำงานค่ำๆกับอาจารย์รชฏ พูดคุยกันอย่างสนิทสนม แม้จะต่างวัยกันเยอะ ก่อนผมจะลาไปเรียนต่อปริญญาโท อาจารย์ชวนให้ผมอยู่ต่อเป็นหัวหน้าวิศวกรออกแบบของบริษัท ซึ่งผมดีใจและเป็นเกียรติอย่างมาก แต่ผมเรียนอาจารย์ว่าผมไม่ชอบงานนั่งโต๊ะคำนวณออกแบบ อนาคตต่อไปผมจะไปทำงานกลางแจ้ง ไปบริหารงานก่อสร้าง และจะไปเรียนต่อทางนี้
*** “เปิดสมองมองก่อสร้าง” วันจันทร์ที่9 ธันวาคม 2567
ขอเล่าเรื่อง ตัวเอง กับการทำงานปีแรกของชีวิตหลังเรียนจบเป็นวิศวกร
ให้วิศวกรโยธาใหม่ ที่จะออกไปทำงานได้รับทราบ
อาคารสยามเซ็นเตอร์ ในขณะที่สร้างเสร็จใหม่ๆ เป็นอาคารศูนย์การค้าติดแอร์ มีพื้นที่รวมอยู่ในอาคารเดียว ที่มีขนาดใหญ่สุดในยุค 2515 ตั้งอยู่ตรงข้ามกับ สยามสแควส์ ซึ่งเป็นรูปแบบศูนย์การค้าแบบอาคารห้องแถว ที่เลียน แบบศูนย์การค้าวังบูรพา เดิมที่เสื่อมความนิยม เพราะไม่มีที่จอดรถพอเพียง
ศาสตราจารย์ ดร.รชฎ กาญจนะวณิชย์ ในสมัยที่ผมไปทำงานด้วย
Logo RKV ชื่อ บริษัท