เปิดสมองมองก่อสร้าง
โดย ต่อตระกูล ยมนาค
เป็นเรื่องโชคดีที่เรายังมีกฏหมายควบคุมอาคาร ใช้อยู่ และในกรณีนี้อบต.โป่งผา ได้รีบเข้าไปห้ามไม่ให้คนเข้าไปใช้ได้ทันการ เพราะถ้าปล่อยคนขึ้นเต็มทุกชั้นเมื่อไหร่ ก็จะพังแน่นอน
รูปที่ผมส่งมาให้ เป็นรูปที่ 4 ท้ายสุดนั้นเป็นอาคารโรงเรียนไม้ไผ่ที่มีชื่อเสียงมาก ที่บาหลี (The Bamboo School) โดยมีวิศวกรโครงสร้างจากเยอรมันมาออกแบบโครงสร้างให้ เขายังทำแค่ 2 ชั้น
เสาแบบบานๆ ที่ไทยเราเลียนแบบมาใช้ ที่ชั้นล่างสุดสำหรับรับน้ำหนัก 4 ชั้นนั้น ที่บาหลีใช้แค่รับหลังคาเบาๆเท่านั้น และไม้ไผ่ที่เขาใช้ก็เป็นพันธุ์ใหญ่พิเศษ ขนาดกระบอก5-6 นิ้ว ไม้ไผ่ของไทยเราทั่วไปขนาดเล็กกว่ามาก พันธุ์กระบอกใหญ่ๆมีอยู่บ้าง มีอยู่ไม่มากที่จังหวัดน่าน
อย่างไรก็ตาม การที่ นายขวัญณรงค์ ขวาเมืองพาน มีความคิดริเริ่มที่จะนำไม้ไผ่มาเป็นวัสดุก่อสร้างนั้นเป็นเรื่องดี ผมขอสนับสนุน แต่ต้องให้มีวิศวกรโครงสร้างออกแบบให้แน่ใจว่ามีความมั่นคงแข็งแรงตาม กฏหมาย และหลักวิชาวิศวกรรมโครงสร้างที่ถูกต้องด้วย สมัยผมเรียนมีแต่วิชาออกแบบโครงสร้างคอนกรีต , วิชาออกแบบโครงสร้างเหล็ก , วิชาออกแบบโครงสร้างไม้ แต่ยังไม่มีวิชาวิชาออกแบบโครงสร้างไม้ไผ่ ครับ แต่ถ้ามีมหาวิทยาลัยไทยสนใจทำการทดลองค้นคว้าสักหน่อย ก็น่าจะออกแบบได้ ไม่ยาก
ที่อินเดียเขาก็ทำตำราออกมาสำหรับออกแบบโครงสร้างไม้ไผ่แล้ว ชื่อว่า
SCIENTIFIC DESIGN OF. BAMBOO STRUCTURES.
โดย Dr. Suresh Bhalla. ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ Indian Institute of Technology
*** “เปิดสมองมองก่อสร้าง” วันจันทร์ที่ 15 กค. 62 นี้ ขอนำเรื่องในด้านดีมีประโยชน์ของกฏหมายควบคุมการก่อสร้าง ที่ช่วยดูแลไม่ให้มีการก่อสร้างอาคารที่ไม่แข็งแรงปลอดภัย ต่อสาธารณะเกิดขึ้น