โดย รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค
อาจารย์แสงอรุณ รัตกสิกร เป็นอาจารย์ที่ผมเคารพรักมาก ผมนั่งฟังแถวหน้าสุด ทุกๆชั่วโมงที่อาจารย์บรรยายประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ประกอบภาพ Slide จากฟิล์มของกล้องที่ท่านถ่ายมาเอง อาจารย์บอกว่าอิฐทุกก้อน ในกรุงโรมได้รับรู้เรื่องที่ผ่านมานับพันปี ทำให้ผมอยากสัมผัสจนรีบวิ่งไปแตะอิฐโรมันนั้นทันทีที่ผมไปถึงอิตาลีในครั้งแรกที่ผมไม่รู้เกี่ยวกับตัวท่านเอง เพราะอาจารย์ไม่เล่าเลย มีแต่เรื่องที่บอกเล่ากันเอง ที่ถูกๆ ผิดๆ
จนมาได้อ่าน วินทร์ เลียววาริณ เขียน จึงขอแชร์มาลงใน “เปิดสมองมองก่อสร้าง” ให้รู้จักสถาปนิกไทยผู้เป็นตำนาน ว่าระดับครูสถาปนิกเขาคิดอย่างไร และถ่อมตนแค่ไหน
อาทิตย์ที่ผ่านมา ผมว่าผมลืมอะไรสักอย่าง นึกไม่ออก เพิ่งนึกออกเมื่อกี้ว่า ยังเล่าเรื่องอาจารย์แสงอรุณไม่จบ เล่าต่อก็แล้วกันนะ
ในฤดูร้อนปี พ.ศ. 2494 นักเรียนไทยกลุ่มหนึ่งในอเมริกาเดินทางท่องประเทศข้ามทวีป พวกเขาผลัดกันขับรถพลีมัธคันเก่าเดินทางไปตามรัฐต่าง ๆ นานสองเดือน แสงอรุณ รัตกสิกร ในวัยยี่สิบเก้า เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้เดินทาง
หลังจากเรียนจบคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย (ยุคนั้นยังไม่มีการันต์เหนืออักษร ณ) แสงอรุณ รัตกสิกร ได้รับทุน ก.พ. ไปเรียนต่อจนจบปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา ได้รับรางวัลสมาคมเกียรตินิยมสถาปัตย์ Gargoyle หลังจากนั้นก็ไปฝึกงานกับปรมาจารย์ แฟรงค์ ลอยด์ ไรท์ สถาปนิกผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของโลก
การฝึกงานกับ แฟรงค์ ลอยด์ ไรท์ ตอกย้ำความรักธรรมชาติของเขาอีกระดับหนึ่ง แฟรงค์ ลอยด์ ไรท์ ก็รักธรรมชาติอย่างยิ่ง สะท้อนชัดในงานแนว organic architecture ของท่าน เช่น ‘บ้านน้ำตก’ ที่มีชื่อเสียงระดับโลก แสงอรุณ รัตกสิกร ผู้เกิดในต่างจังหวัดและใช้ชีวิตเรียบง่ายมาแต่เล็ก เมื่อพบปรมาจารย์ซึ่งนิยมธรรมชาติ ก็อ้าแขนรับปรัชญานี้ได้อย่างสนิทใจ
ชายหนุ่มวัยยี่สิบเก้าผู้นี้มีนิสัยหลายอย่างที่คล้ายกับอาจารย์ชาวอเมริกัน ฉายแววขบถมาตั้งแต่หนุ่ม ไม่ชอบกฎระเบียบกติกาที่ไร้สาระ รักความงามของศิลปะและธรรมชาติ ช่วงที่ไปฝึกงานกับ แฟรงค์ ลอยด์ ไรท์ ที่ทาไลซีน บ้านฤดูร้อนของท่านที่ สปริง กรีน ตำบลเล็ก ๆ ในวิสคอนซิน ซึ่งเป็น ‘ตักสิลา’ แห่งโลกสถาปัตยกรรม เขาแลเห็นวิธีการจัดการกับความอัปลักษณ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นในอีกทางหนึ่ง วันหนึ่งเมื่อ แฟรงค์ ลอยด์ ไรท์ แลเห็นร้านขายของชำเล็ก ๆ สุดแสนน่าเกลียดแห่งหนึ่งบนท้องทุ่ง ก็จัดการควักเงินซื้อร้านนั้น แล้วสั่งสานุศิษย์ราดร้านนั้นด้วยน้ำมัน จุดไฟเผาเป็นจุรณไป ร้อนถึงเจ้าหน้าที่ดับเพลิงห้อรถมาดับไฟ !
สถาปนิกหนุ่มเปรียบ แฟรงค์ ลอยด์ ไรท์ วัยแปดสิบห้าว่าเหมือน ‘มหาพรหม’ ผู้มีอำนาจ… “ทำลายความน่าเกลียดให้ปลาสนาการ และคงไว้หรือเพิ่มความงามของภูมิประเทศให้บังเกิดขึ้น” ‘มหาพรหม’ กวาดซื้อพื้นที่นั้นเพื่อรักษาความงามของภูมิประเทศ เพราะทนความอัปลักษณ์ของสถาปัตยกรรมและสภาพแวดล้อมเลว ๆ ไม่ได้
แสงอรุณ รัตกสิกร ก็อาจติดนิสัยแบบนี้มาโดยไม่รู้ตัวเหมือนกัน ! ในกาลต่อมา เมื่อพบว่าใครจะตัดต้นไม้ เขาก็มักควักเงินซื้อที่ดินผืนนั้นเพื่อรักษาชีวิตของต้นไม้ ครั้งหนึ่งเมื่อผ่านไปทางเหนือของไทย พบชาวบ้านกำลังจะโค่นต้นไม้ใหญ่สองต้นขนาดหลายคนโอบ เขาก็ควักเงินหลายหมื่นบาทให้ชาวบ้านเหล่านั้นโดยไม่ลังเล เพื่อขอไถ่ชีวิตพฤกษายักษ์
สำหรับ แสงอรุณ รัตกสิกร เงินเป็นเพียงพาหนะที่ช่วยให้เดินทางบนทางสายศิลปะและอนุรักษ์ธรรมชาติได้สะดวกขึ้น และไม่เคยลังเลที่จะใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัวช่วยชีวิตต้นไม้หรือมนุษย์คนอื่นที่กำลังเดือดร้อน ทั้งที่โดยพื้นฐานเขาเป็นคนมัธยัสถ์ เห็นชัดจากการที่เขาไม่เคยใช้ของสิ้นเปลือง รวมไปถึงการแต่งตัวชุดเก่าที่มีแต่รอยปะ
วินทร์ เลียววาริณ 31-5-24
นี่คือปฏิมากรรม ฝีมือของอาจารย์แสงอรุณ เดิมตั้งอยู่หน้ารัฐสภาเก่า ตอนนี้ ยกมาตั้งหน้ารัฐสภาใหม่ (อีกแล้ว) ผมเพิ่งไปถ่ายรูปมาเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว คนที่เห็นชอบกันมาก บอกว่าเป็น ดอก(บัว)ทอง เหมาะสมกับ สส.ไทย ขอส่งจิตอธิฐาน ไปให้อาจารย์ไม่ว่าอยู่ในภพใดๆ ได้รับรู้ว่า ผลงานของอาจารย์ ชิ้นนี้ ได้มาตั้งอยู่ในที่ใหม่อย่างเหมาะสม สง่างาม เพราะลูกศิษย์อาจารย์ที่ชนะประกวดออกแบบอาคารรัฐสภาใหม่นี้ เขายังนึกถึงอาจารย์อยู่ไม่เสื่อมคลายและ สส. เขาก็ยังรู้ไม่ทัน เหมือนเดิม